ในวันที่เหนื่อยล้า ไม่ว่าใครก็ต้องการรางวัลปลอบใจกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่สมองและร่างกายที่ต้องการอาหารดี ๆ สักมื้อเพื่อปลอบใจในวันที่อะไร ๆ ก็ไม่เป็นใจเช่นกัน แต่หลายครั้ง หากอารมณ์ที่หลากหลายทำให้อยากกินอาหารมากมายจนเกินความจำเป็น ไม่แน่ว่าในขณะนี้ร่างกายและจิตใจของเราอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “Emotional Eating” หรือ “กินตามอารมณ์” ก็เป็นได้ แล้ว Emotional Eating คืออะไร อันตรายมากน้อยแค่ไหน และควรวางแผนรับมืออย่างไรให้ปลอดภัยกับสุขภาพกายและใจ ที่นี่มีคำตอบ
Emotional Eating คืออะไร?
เมื่อสารเคมีในสมองไม่สมดุลเนื่องจากมี “อารมณ์” เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการดีใจจนหยุดไม่อยู่ ไปจนถึงความโศกเสียใจและสารพัดความเครียด ระบบประสาทในสมองจะส่งสัญญาณเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย ทำให้ระบบต่าง ๆ กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ
ในกรณี Emotional Eating จะเป็นการที่ร่างกายส่งสัญญาณให้รับประทานอาหารมากกว่าปกติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ โดยสมองจะทำงานภายในกลไกที่เรียกว่า Brain Reward System ที่เชื่อมโยงกับฮอร์โมโดพามีนที่ควบคุมอาหารและความสุข
โดยเมื่อร่างกายได้รับอาหารที่ส่งผลกับกระบวนทางจิตอย่าง “น้ำตาล” หรือ “ของที่มีแคลอรีสูง” ไปจนถึงอาหารจานโปรดที่ชอบ สมองก็จะหลั่งฮอร์โมนโดพามีนออกมา ทำให้เรารู้สึกมีความสุขที่ได้กิน จนท้ายที่สุด เมื่อร่างกายก็จะเรียนรู้ว่า หากรู้สึกเครียด ดีใจ หรือมีอารมณ์ใดเมื่อไหร่ การกินอาหารก็จะช่วยเยียวยาจิตใจและทำให้กลับมาอารมณ์ดีได้อีกครั้ง
Emotional Eating อันตรายจริงไหม?
แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ทำกัน แต่การกินเพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เนื่องจากการกินดังกล่าวไม่ใช่การกินเพื่อตอบสนองความหิว จึงทำให้เราสามารถรับประทานอาหารเกินความจำเป็นของร่างกายได้
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารตามอารมณ์ที่มากเกินไปยังกระตุ้นให้สมองทำงานภายใต้กลไกอย่าง Brain Reward System มากเกินไป ส่งผลให้ในระยะยาวร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโดพามีนน้อยลง จนทำให้รู้สึกมีความสุขน้อยลงและยากขึ้นอีกด้วย
ดูแลภาวะ Emotional Eating อย่างไรดี?
จากอันตรายของ Emotional Eating ข้างต้น หลายคนก็อาจรู้สึกว่า ความดีต่อใจกำลังจะหายไป อย่างไรก็ดี หากใครเริ่มมีภาวะการกินตามอารมณ์มากเกินไป ก่อนจะกดสั่งเมนูอาหารที่ต้องการ ขอแนะนำให้ลองถอยสักก้าวออกมาพิจารณาอารมณ์ของตัวเองอย่างใจเย็นและมีสติ จากนั้นจึงค่อย ๆ หาวิธีคลายเครียดในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการกินดูบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลุกเดิน นั่งสมาธิ ไปจนถึงการหาเวลาไปออกกำลังกายเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนและสุขภาพใจให้ดียิ่งขึ้น
รู้แบบนี้แล้ว ในวันที่รู้สึกใจพัง อย่าลืมสำรวจอารมณ์ตัวเองดูสักหน่อย พร้อมตรวจสอบความต้องการของตัวเองอีกสักนิดก่อนกดสั่งของอร่อยมาฮีลใจด้วยนะ